วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ร่มยางพารา

กรีดยางได้แม้วันที่ฝนตก... ประพาส  น้ำจันทร์ เกษตรกรชาวสวน ยางพารา สามารถกรีดยางได้แม้วันที่ฝนตก…


   
จากเหตุการณ์สึนามิ ได้สร้างความเสียหายต่อการประกอบอาชีพการลงทุนเลี้ยงหอยแมลงภู่นับแสนบาท อาชีพของครอบครัวอยู่ในสภาพหมดเงินจากการลงทุนเลี้ยงหอย นาย ประพาส น้ำจันทร์ ในฐานะหัวหน้าครอบครัว เล่าว่า “ในตอนนั้น ตนเองได้นั่งคิดว่า จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวด้วยวิธีการไหนดี ที่จะสามารถมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ จึงหันกลับไปมองสวนยางพารา บนเนื้อที่ 13 ไร่ (1,000 ต้น) อายุยาง 8 ปี ซึ่งพอจะเลี้ยงครอบครัวได้  จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เพียงพอ เพราะลำพังเพียงสวนยางพารา ในปีหนึ่ง ๆ ตัดได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น เพราะพื้นที่แถบ จ.ระนอง มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี 

จากการครุ่นคิด นายประพาส บอกว่าสิ่งหนึ่งที่จุดประกายความคิดของเขา ในตอนนั้นเป็นช่วงหน้าฝนพอดี ตนเองนั่งอยู่หน้าบ้าน เห็นคนกางร่มผ่านไปมา จึงมีความคิดว่า ถ้าหากจะกางร่มให้ต้นยางพารานั้น จะทำอย่างไรดี   จากความคิดเกิดเป็นคำถาม หลังจากนั้นนายประพาส ได้เริ่มค้นหาวิธีการกางร่มให้ต้นยางพารา เพื่อใช้สวมรอบลำต้นยางพาราเหนือตำแหน่งหน้ายาง ป้องกันฝนและความชื้นไม่ให้ไหลเปียกหน้ายางซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาติดโรคของต้นยางพารา เริ่มต้นทดลองกางร่มให้ยางพารา วิธีการแรกได้ทดลองนำไม้ไผ่มาสานทำโครงลักษณะคล้ายหมวกงอบ แต่ใช้ไม่ได้ เพราะไม้ไผ่พอแห้งทำให้กรอบ พอถูกลมพัด ทำให้เสียรูปทรง วิธีการที่ 2 ได้ทดลองนำหวายมาสานทำโครง หวายมีความอ่อนตัว พอลมพัดทำให้เสียรูปทรงเช่นเดียวกับไม้ไผ่ วิธีการที่ 2 ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ นายประพาสได้ทดลองหาวิธีการกางร่มให้ต้นยางอยู่ 3 เดือน ก็เลยเกิดความคิดว่าน่าจะทดลองทำโครงกับลวด วิธีที่ 3 จึงได้ทดลองทำโครงร่มยางกับลวด และใช้ขี้ชัน (ยาเรือ) มาติดบนพลาสติกที่ประกอบกับโครงร่มยางแล้ว แต่พอขี้ชันแห้ง ทำให้แตก น้ำฝนซึมผ่านได้ จึงลองหาซื้อกาวที่มีคุณสมบัติกันซึมมาใช้ พบว่าใช้ได้ผลดี น้ำไม่ไหลซึม

   
และจากการทดลองทำร่มยางพารา ทั้ง 3 วิธี  นายประพาสสรุปว่า วิธีการที่ 3 ใช้ได้ดี   มีลมพัดก็ไม่ทำให้เสียรูปทรง กันฝนได้ 5 ปี แล้วที่นายประพาสกางร่มให้ต้นยางพาราทำให้สามารถกรีดยางในช่วงหน้าฝนได้ ผลต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์ คือ สามารถกรีดยางจากเดิม ภายใน 1 ปี สามารถกรีดยางได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่หลังจากทำร่มยาง สวนยางพาราของนายประพาส ใน 1 ปี สามารถกรีดยางพาราได้เพิ่มขึ้นเป็น 8 เดือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
   
ก่อนทำร่มยางพารา กรีดยางได้ประมาณ 10 วันต่อเดือน (ในฤดูฝน) รายได้ต่อวันประมาณ 1,500 บาท (คำนวณราคายางพาราแผ่นกิโล กรัมละ 50 บาท) เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนก่อนทำร่มยางพาราประมาณ 15,000 บาท  หลังจากทำร่มยางพารา กรีดยางได้ 21 วันต่อเดือน (ในฤดูฝน) รายได้ต่อวันประมาณ 1,500 บาท (คำนวณราคายางพาราแผ่นกิโลกรัมละ 50 บาท) เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนหลังทำร่มยางพารา ประมาณ 31,500 บาท การเปรียบเทียบจำนวนวันที่สามารถกรีดยางได้ก่อนและหลังกางร่มให้ต้นยาง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางรายนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากความเพียรพยายาม จนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตนเองได้
   
นายประพาส บอกว่า “ที่ผ่านมาลองผิดมากกว่าลองถูก ได้เรียนจากประสบการณ์ของตนเอง ปัจจุบันมีชาวสวนยางที่สนใจมาเรียนรู้วิธีการทำร่มยาง บ้างก็ให้ไปช่วยกางร่มให้ต้นยางให้ดูเป็นตัวอย่างถึงในสวนยางเลยทีเดียว     มีคนเคยมาถาม ไปสอนให้เค้าทำไมไม่คิดเงิน  ผมถือว่าความรู้เป็นวิทยาทาน เมื่อมีคนนำความ รู้กลับไปทำจริง ๆ ผมรู้สึกดีใจ เพราะการทำร่มยางพารา หรือการทำงานใดนั้นต้องมีความตั้งใจ ความพยายาม และต้องมีความอดทนด้วยจึงจะประสบผลสำเร็จ”
   
จากการติดตามผล จากคนที่สนใจมาขอคำแนะนำการทำร่มยาง นายประพาส บอกว่า มี 2 รายที่นำความรู้กลับไปลงมือทำมากว่า 2 ปีแล้ว คือนายไพโรจน์ ยิ้มเยาะ เกษตรกร หมู่ที่ 1 บ้านบางมัน มีต้นยางพารา ประมาณ 500 ต้น และนายอำพร อินตัน เกษตรกรสวนยาง พาราชาวตำบลบางหิน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง นำความรู้ไปทดลองทำกับต้นยางพารา ประมาณ 300 ต้น ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรทั้งสองรายสามารถกรีดยางแม้วันที่ฝนตกเช่นเดียวกับสวนของนายประพาส
   
ที่มา เดลินิวส์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=19994   

http://www.radompon.com/webboard/index.php?topic=1574.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น